ทุกๆท่านคงรู้จักกับระบบภูมิคุ้มกันว่าเป็นระบบของสิ่งมีชีวิตที่คอยช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะจากจุลชีพก่อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้แต่พยาธิต่างๆ
เช่นเดียวกันกับหมูของเรา การที่ลูกหมูมีภูมิคุ้มกันที่ดีนั้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ลดการสูญเสีย การใช้ยาลดลง ทำให้หมูสุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้กินดี เติบโตดีด้วย
วันนี้เรามาดูกันว่าภูมิคุ้มกันในหมูของเรามีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วเราจะทำให้ลูกหมูของเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีได้อย่างไร
หมูของเรามีรกเป็นแบบ Epitheliochorial คือไม่สามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกได้ เท่ากับว่าลูกหมูที่เกิดมาจะมีลักษณะภูมิคุ้มกันพร่อง คือมี Immunoglobulin ที่ต่ำ (Agammaglobulinemia) หรือพูดให้ง่ายก็คือหมูแรกเกิดมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ค่อยพร้อมสำหรับการเอาตัวรอด
แล้วหมูจะได้รับภูมิคุ้มกันจากไหน คำตอบก็คือ โดยตรงจากนมน้ำเหลืองในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และ น้ำนมแม่ ซึ่งอุดมไปด้วย Immunogloblin หลายชนิด ก่อนอื่น เรามาดูกันว่า Immunoglobulin หลักมีอะไรบ้าง
1. Immunoglobulin G หรือ IgG มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค จากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในนมน้ำเหลืองช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุผลที่ควรให้ลูกหมูกินนมน้ำเหลืองตลอดช่วง 24 ชั่วโมงแรก ทำให้ลูกหมูมีภูมิที่ดี ลดปัญหาการตายได้ช่วง 1-3 วันแรก
2. Immunoglobulin A หรือ IgA มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อของเยื่อบุ เช่น ระบบทางเดินอาหาร จะมีหน้าที่เป็นเหมือนตัวเคลือบลำไส้ ป้องกันปัญหาท้องเสียในลูกหมูที่ลำไส้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในหมูหย่านมที่มีการเปลี่ยนอาหาร
3. Immunoglobulin M หรือ IgM มีบทบาทในการทำลายสิ่งแปลกปลอมในระยะแรกที่ติดเชื้อ
ขณะที่นมน้ำเหลืองของแม่หมูใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เป็นช่วงที่มีปริมาณ IgG มากที่สุด ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ลำไส้ของลูกหมูที่เพิ่งเกิดเปิดรับเต็มที่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าช่วง 24 ชั่วโมงหลังคลอดเป็นช่วงเวลาทองของลูกหมู ในการสะสมภูมิคุ้มกันโดยตรงจากแม่
ในตอนถัดไป เราจะมาดูกันว่าวัคซีนที่เราทำในแม่ ที่หวังให้ส่งผ่านไปสู่ลูก มีลักษณะอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับระบบภูมิคุ้มกัน และนมแม่
ติดตามข่าวสาร เรื่องราว หมู หมู ได้ที่
Line ID: @vetmore หรือที่ https://line.me/R/ti/p/%40vetmore