ความท้าทายสำหรับฟาร์มหมูรายย่อยขนาดเล็ก

ทำไมธุรกิจฟาร์มหมู (รวมถึงสัตว์ประเภทอื่น) ในประเทศไทย มีแต่ผู้เล่นรายเดิมขนาดกลาง – ใหญ่ที่มีประสบการณ์ที่อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้

จากข้อมูลทางสถิติ ขนาดของธุรกิจฟาร์มนั้นทยอยเติบโตขึ้น แต่โอกาสในการขยายธุรกิจเหล่านั้นกลับเป็นของผู้เล่นขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้เล่นขนาดเล็กและนักธุรกิจภายนอกไม่สามารถคว้าโอกาสเหล่านี้ได้

หากเราสวมบทบาทนักธุรกิจใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำฟาร์มหมูนั้น เราอาจเริ่มโดยการเขียนโมเดลธุรกิจ และแผนธุรกิจว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เช่น จะจัดหาวัตถุดิบ/อาหารสัตว์จากใคร ราคาเท่าไหร่ ต้องเลี้ยงยังไง หาผู้ช่วยที่มีความสามารถและแรงงานมาจากไหน ใช้ระยะเวลาเลี้ยงเท่าไหร่ ขายหมูหน้าฟาร์มที่ใคร รวมถึงอาจมีการสร้างแบบจำลองทางการเงินว่าในแต่ละปีนั้นธุรกิจจะมีผลตอบแทนอย่างไร

เมื่อเราสวมบทบาทและคิดถึงธุรกิจในทุกแง่มุมแล้ว เราจะพบว่าสำหรับธุรกิจฟาร์มหมูขนาดเล็ก-ขนาดเริ่มต้นนั้นจะพบความท้าทายสูงอย่างมากในตลาดที่ต้องแข่งขันกับผู้เล่นขนาดใหญ่ โดยความท้าทายเหล่านี้เปรียบเสมือนกำแพงกีดขวาง (Barrier to Entry) ให้ฟาร์มหมูขนาดเล็ก-ขนาดเริ่มต้นนั้นประสบความสำเร็จได้ยากกว่า เช่น

  1. ขาดความสามารถในการควบคุมต้นทุน – ถึงแม้ต้นทุนบางส่วนอย่างเช่นค่าแรง ค่าสาธารนูปโภค (น้ำ-ไฟ) อาจจะคาดการณ์ได้ แต่ต้นทุนด้านวัตถุดิบ/อาหาร ที่เป็นต้นทุนหลักกลับไม่สามารถวางแผนและควบคุมได้ เนื่องจากวัตถุดิบบางส่วนพึ่งพาการนำเข้าและราคาที่ผันผวนไปกับสถานการณ์โลก
  2. ขาดความสามารถในการกำหนดราคาตลาด – ด้วยการเลี้ยงหมูนั้นจะใช้เวลากว่า 4-10 เดือน (ขึ้นอยู่กับวัยของลูกหมูที่เริ่มเลี้ยง/การเริ่มจากแม่พันธุ์) ดังนั้นทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในอนาคตข้างหน้า มีโอกาสผันผวนจากในปัจจุบัน ราคาที่เปลี่ยนแปลงเพียง 5-15% อาจทำให้การลงทุนที่ผ่านมานั้นขาดทุนได้
  3. ขาดช่องทางในการเข้าถึงตลาด – ด้วยการขายหมูหน้าฟาร์มนั้นมีช่องทางที่จำกัด โดยเฉพาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กที่ไม่มีช่องทางในการแปรรูปและจัดจำหน่ายของตัวเอง ทำให้มีโอกาสถูกกดดันด้านราคาจากพ่อค้า ที่มีทางเลือกในการเข้าถึงฟาร์มที่มีจำนวนมากกว่า
  4. ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน – เนื่องจากธุรกิจฟาร์มสัตว์เป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง ทำให้เกษตรกรขนาดเล็กที่ไม่มีประวัติทางด้านการเงินไม่สามารถสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้
  5. ขาดการเข้าถึงแรงงานที่มีคุณภาพ – จากอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานสูง และไม่เป็นที่ต้องการของแรงงานไทย ทำให้แรงงานต่างชาติที่มีความสามารถนั้นมีความต้องการสูงและขาดแคลน
  6. แรงกดดันจากกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น – เนื่องด้วยการระบาดของโรค และการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมจากภาครัฐฯ ทำให้ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจนั้นยากและใช้เวลานานมากขึ้น
  7. ขาดทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ – เนื่องด้วยความรู้ที่สั่งสมมาจากการเลี้ยงในอดีตมักสะสมอยู่กับเจ้าของฟาร์มที่ริเริ่ม ขยาย และฝ่าวิกฤติมานับไม่ถ้วน ทำให้ฟาร์มขนาดเล็ก-ผู้เล่นใหม่นั้นไม่สามารถเรียนรู้เทคนิคต่างๆเหล่านั้นได้

ด้วยความท้าทายที่สูงเหล่านี้ ทำให้อุตสาหกรรมดูไม่เป็นใจให้กับฟาร์มหมูขนาดเล็ก-ขนาดเริ่มต้น ที่อาจต้องพบกับความเสี่ยงมากกว่าในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีอำนาจในตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่สูงนั้นเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง กดดันให้ผู้เล่นขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวเองได้ ต้องหยุดกิจการในที่สุด ..

เวทมอร์
คัดสรรอาหารสัตว์คุณภาพสูง

Follow us on
ติดตามเราได้ที่

บทความที่คุณอาจสนใจ