สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากจีน เวียดนาม ประเทศที่เจอกับโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน(ASF) คือ ผู้เลี้ยงหลายรายต้องเลิกเลี้ยงไป ในขณะที่หลายรายปรับตัวและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้วยการยกระดับการป้องกันฟาร์มตัวเองให้ดี หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมกระบวนการจัดการภายในฟาร์ม (Operations Management) รวมถึงการออกกฎ ระเบียบปฏิบัติ และมาตราการต่างๆที่เพิ่มเติมเข้ามา
เรามาทบทวนกันว่า ในมุมมองของความเสี่ยงที่มีอยู่รอบด้านจากภายนอกฟาร์ม เข้ามาในฟาร์ม จนมาถึงในร่างกายสัตว์ ในมุมความปลอดภัยก็ต้องมีรอบด้านเช่นกัน ไม่เพียงแค่สิ่งแวดล้อมหรือภายนอกตัวสัตว์ แต่ต้องคำนึงถึงระบบความปลอดภัยในร่างกายสัตว์ด้วย
ระบบความปลอดภัยรอบด้านทั้ง 360°(Security 360°)
เป็นระบบความปลอดภัยจากภายนอกฟาร์ม สู่ความปลอดภัยภายในตัวสัตว์เอง มีอะไรบ้าง
ตามมาดูกัน…
1. Biosecurity หมายถึง ระบบการจัดการและมาตรการทางกายภาพ ที่ดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมโรค โดยการลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม การกระจายของเชื้อโรคภายในและออกจากฟาร์ม รวมถึงการแพร่กระจายของโรคในประชากรสัตว์ นั่นคือ ระบบความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมทั่วไป สภาพแวดล้อมที่หมูอาศัย ความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ในฟาร์ม เราดูแลด้วยการล้างทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อ หรือ การฆ่าเชื้อด้วยตู้ UV การใช้ชีวิต กินอยู่ ของผู้เลี้ยงหรือคนงาน เราแก้ไขด้วยการขอความร่วมไม้ร่วมมือ การออกกฏข้อบังคับ เช่น ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าในเขตฟาร์ม การอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้าก่อนเข้าเขตฟาร์มหรือเขตเลี้ยงสัตว์ที่ควบคุมโรค ยานพาหนะที่เข้าและออก ก็ต้องมีการดูแล พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถก่อนเข้าฟาร์ม
2. Feed-security เป็นความปลอดภัยทางด้านวัตถุดิบ อาหารและน้ำที่ใช้เลี้ยงหมู โดยการยกเอาเรื่องอาหารและน้ำ ออกมาเน้นเพิ่มเติมจากการทำ biosecurity เพราะสำหรับปัญหา ASF แล้ว การนำเศษอาหารมาใช้เลี้ยงหมูในเกษตรกรรายย่อย เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค จึงนับเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยความปลอดภัยทางด้านอาหารนั้นจุดสำคัญก็คือ การปิดโอกาสเสี่ยงที่หมูจะกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เราควรมีกระบวนการตรวจการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในวัตถุดิบให้ได้ทุกล็อต และในปัจจุบันก็มีการใช้สารฆ่าเชื้อในอาหารผสมอีกวิธีหนึ่งด้วย
3. Immunosecurity ความปลอดภัยทางภูมิคุ้มกัน เป็นการเสริมศักยภาพระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ป้องกันภายในร่ายกายตัวเองของสัตว์จากเชื้อโรค เราจะสังเกตได้ว่า สัตว์แต่ละตัวจะมีความแข็งแรงแตกต่างกัน สัตว์อายุน้อยและอายุมากมีโอกาสป่วย ติดเชื้อได้สูงกว่าสัตว์วัยเจริญพันธุ์ สัตว์ที่เลี้ยงภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แตกต่าง (พื้นที่ อาหาร น้ำ อากาศ) ก็จะเจริญเติบโต ให้ผลผลิตและมีสุขภาพที่แตกต่าง มีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียด (stress) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดูอย่างในคนเราเองก็จะพบว่าหากเครียดมากก็จะเจ็บป่วยได้ง่าย ในการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมระดับฝูงขนาดใหญ่ จึงมักพบลัษณะการแตกไซส์ หรือการมีกลุ่มของประชาการส่วนหนึ่งที่มีสุขภาพไม่ดี ไม่เจริญเติบโตหรือให้ผลผลิตตามเกณฑ์ เจ็บป่วย จนต้องถูกคัดทิ้ง พูดง่าย ๆ คือปัจจัยการเลี้ยง การจัดการที่ไม่สามารควบคุมได้ก็จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในฝูงต่างกัน ทำให้มีความไวต่อการติดโรคต่างกัน ระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก ระบบภูมิต้านทานที่ดี ต้องมีปริมาณและคุณภาพเพียงพอต่อการถูกคุกคาม การยกระดับระบบภูมิต้านทานในร่างกายให้หมูมีภูมิคุ้มกันที่ดี การทำให้ฝูงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีด้วยวิธีการใดก้อตาม เป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญในการป้องการความรุนแรงของโรคและการทำให้ได้ผลผลิตตามศักยภาพที่แท้จริงของพันธุกรรมในฟาร์ม
ที่มา: FAO, Manipulating the immune system for pigs to optimise performance