“ประเทศใดก็ตามจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรก่อนที่จะสร้างตัวเองให้เป็นมหาอำนาจ ด้วยเกษตรกรรมที่มั่นคงเท่านั้นที่สามารถทำให้ประเทศแข็งแกร่งได้” ประธานาธิบดี สี ได้กล่าวไว้ในอดีต เขาเคยเตือนอีกด้วยว่า “จีนจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อื่น หากไม่รักษาอู่ข้าวอู่น้ำของตนเองให้มั่นคง”
ด้วยแรงกดดันจากทั้งข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ ปัญหาโรคระบาด และสงครามยูเครน-รัสเซีย ยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ดังนั้นประธานาธิบดี สี ได้กำหนดให้การพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเป็นความสำคัญต้นของประเทศ
ซึ่งแนวทางดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหมู ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลักของประชากรจีน ถูกให้การสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลกลางได้ออกกฤษฎีกาให้แต่ละมณฑลต้องให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหมู ทำให้เกิดความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับฟาร์มหมูขนาดใหญ่ รวมถึงการอนุมัติการทำฟาร์มหลายชั้น (แบบคอนโด) ทำให้ฟาร์มสามารถเลี้ยงหมูได้มากขึ้นในพื้นที่ที่จำกัด
มากกว่านั้นราคาเนื้อหมูยังถูกควบคุมโดยรัฐบาลในฐานะมาตรวัดเงินเฟ้อ และถูกจัดการอย่างระมัดระวังผ่านคลังสำรองเนื้อหมูของประเทศ ที่เป็นคลังเนื้อสัตว์ของรัฐบาลที่ใช้บริหารราคาให้มีเสถียรภาพเมื่อมีความผันผวนของปริมาณเนื้อในตลาด
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหมูที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐบาล ประกอบกับความเสียหายจากการระบาดของ ASF ทำให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของบริษัทขนาดใหญ่ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีป้องกันโรคและมีสายป่านยาว ในการขยายฟาร์มอย่างเต็มที่ ในขณะที่ฟาร์มขนาดเล็กที่เงินทุนน้อย ไม่สามารถป้องกันโรคได้ จำเป็นต้องปิดตัวลงไป
โอกาสครั้งสำคัญในการขยายฟาร์มนี้เอง ถูกคว้าไว้โดย Zhongxin Kaiwei หรือ จงซินไคเหวย ที่ดั้งเดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตซีเมนต์ที่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตหมูครบวงจร ด้วยการสร้างคอนโดหมูขนาด 26 ชั้น จำนวน 2 ตึก ที่สามารถผลิตหมูขุนได้กว่า 1,000,000 ตัว/ปี พร้อมทั้งโรงงานแปรรูปในบริเวณใกล้เคียงด้วยงบลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท
คอนโดหมูนี้ใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนในการเลี้ยงอย่างเต็มระบบ ทั้งห้องควบคุมด้วยกล้องตลอด 24 ชั่วโมง ระบบอาหารอัตโนมัติในแต่ละชั้น ระบบควบคุมอากาศ ความชื้น และอุณหภูมิแบบเรียลไทม์ ซึ่งทั้งหมดทำหน้าที่แยกให้แต่ละชั้นเป็นอิสระต่อกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรค
อย่างไรก็ตามถึงแม้การเลี้ยงหมูแบบคอนโดพร้อมระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับฟาร์มได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและผลกระทบที่สูง จากการแพร่กระจายของโรค เพราะหากการควบคุมโรคไม่ดีพอ หมูที่มีโรคเพียงตัวเดียวอาจสร้างความเสียหายให้กับทั้งอาคารได้เช่นกัน