ตลาดหมูไทย จะโตได้อีกแค่ไหน? // by Vetmore
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมูในไทยเติบโตขึ้นตลอด โดยมีทิศทางเดียวกับปริมาณประชากรไทยที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคในประเทศสูงขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีแม่หมูประมาณ 1 ล้านแม่ ผลิตหมูขุนประมาณ 20 ล้านตัวต่อปี ซึ่งพอเหมาะกับการบริโภคในประเทศ มีการปรับสมดุลราคาในช่วงหมูล้นตลาดหรือขาดตลาดตามกลไกเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติ
เรื่องนี้เป็นที่น่าคิดมากขึ้นว่าจำนวนการเลี้ยงหมูจะเพิ่มขึ้นได้อีกแค่ไหน หากหมูเราขายได้เพียงในประเทศ
ถ้าแหล่งผู้บริโภคมีที่เดียวคือประเทศไทย สิ่งที่จะเป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณการบริโภคก็คือ จำนวนประชากรในประเทศ แต่ปัญหาคือ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำลงมาก โดยปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยอยู่ที่เพียง 0.3% ต่อปีและคาดว่าจำนวนประชากรไทยจะสูงที่สุดในปีพ.ศ. 2573 ที่จำนวน 70.345 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 5 แสนคนในอีก 10 ปีข้างหน้า และหลังจากนั้นจะทยอยลดลงเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันที่ประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 1.05% ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งสมัยนั้นประเทศไทยมีประชากร 59.4 ล้านคน และอัตราเพิ่มขึ้นของประชากรโลกนี้ยังมีแนวโน้มเป็นบวกไปอีกหลายสิบปี
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปีพ.ศ. 2564 คือมีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่วัยทำงานลดลง ยิ่งทำให้การบริโภคในประเทศลดลงด้วย
สองปัจจัยนี้ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการบริโภคเนื้อหมูที่อาจจะลดลงในอนาคต
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้แล้ว หากผู้เลี้ยงในไทยมีข้อจำกัดในการส่งหมูออกนอกประเทศ อาจทำให้การเติบโตในอนาคตเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นและหากปริมาณบริโภคลดลง แต่ผู้ผลิตมากขึ้น จะทำให้เกิดการผลิตส่วนเกิน ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำในที่สุด
สัญญาณที่ดีที่เราเห็นได้จากการส่งออกในปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 คือ การมีตลาดใหม่เพื่อรองรับ ทำให้ผู้เลี้ยงได้ราคาที่สูงขึ้น ทำให้น่าคิดว่าสำหรับการยกระดับเพื่อเป็นผู้ส่งออก เพื่อคว้าตลาดต่างประเทศมากขึ้น จะเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ จะดีกว่านี้ไหม หากตลาดสำหรับผู้เลี้ยงหมูในไทย ไม่ใช่เพียงประชากรไทย แต่เป็นประชาคมโลก
ที่มา: สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ, worldometers.info, กรมกิจการผู้สูงอายุ