ซีรีย์บทความเรื่อง ‘หมูนอก(ฟาร์ม)’ นี้เราขอเสนอเรื่องราวหมูที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในวงการปศุสัตว์ ไม่ใช่แค่เรื่องโรค หรือการจัดการฟาร์ม แต่จะเป็นหมูนอกฟาร์มที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการอื่นที่ต่างออกไป
ตอนนี้คือเรื่อง ‘ไตหมูในร่างมนุษย์’ หรือ ‘การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะสัตว์สู่มนุษย์’ หรือ ‘Xenotransplantation’
แค่อ่านชื่อก็ยากแล้ว อย่าเพิ่งคิดไปไกล เราจะเล่าให้ฟัง
ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเยอะมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริจาคอวัยวะหลังการเสียชีวิต และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าขึ้นมาก ทำให้มนุษย์ปัจจุบันมีอายุยืนขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการเสียชีวิตที่น้อยลง นำไปสู่การขาดแคลนอวัยวะที่จะนำมาให้ผู้ป่วยรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนั่นเอง
ทีนี้เลยเกิดแนวคิดที่จะเปลี่ยนถ่ายอวัยวะระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งเราเรียกว่า ‘Xenotransplantation’ หรือ ‘การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์’ ซึ่งฟังดูก็ยากสุดๆ ก็เพราะว่าเรามันคนละสปีชีส์กัน ยีนส์ไม่เหมือนกัน รูปร่าง สรีระไม่เหมือนกัน .. พอมาถึงจุดนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มทดลองเปลี่ยนถ่ายอวัยวะลิงให้กับคน แต่ประสบปัญหาเนื่องจากลิงมีทั้งเชื้อไวรัส HIV และ Hepatitis(ตับอักเสบ) อีกทั้งโลกเราไม่ได้มีฟาร์มลิงเพื่อผลิตเป็นอุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดเรายังมองลิงเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์ การฆ่าลิงเพื่อมารักษามนุษย์ยังฟังดูผิดศีลธรรม
ทำให้หน้าที่นี้ก็เลยมาตกที่หมู(ซะงั้น ..) เพราะถ้าเปรียบเทียบในกลุ่มสัตว์ปศุสัตว์แล้ว หมูมีอวัยวะภายในที่ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด มีการพัฒนา ปรับปรุงสายพันธุ์ และมี Know-how สูงนั่นเอง
ซึ่งจนมาถึงปัจจุบัน .. กลุ่มนักวิทย์ใช้ความรู้ทางด้านพันธุวิศวกรรม(genetic engineering) ปรับแต่งให้หมูโตมาโดยไม่มีโปรตีนบางกลุ่มที่ร่างกายมนุษย์ต่อต้าน โดยมีการใช้ยากดภูมิเพื่อลดการต่อต้านอวัยวะระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนถ่าย ซึ่งได้ทดลองกับสัตว์ในกลุ่มลิง และก็ดูจะได้ผลที่ดี คือลิงที่ได้รับผ่าตัดหัวใจของหมูมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเป็นปี
ใครจะไปรู้ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ผู้เลี้ยงสุกรไทย อาจจะได้ทำธุรกิจเสริมเลี้ยงหมูสายพันธุ์พิเศษสำหรับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก็ได้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด ..
ที่มา: http://sitn.hms.harvard.edu/flash/2015/xenotransplantation-can-pigs-save-human-lives/