รู้หรือไม่ว่า กล้องถ่ายภาพความร้อน สามารถนำมาใช้คัดกรองโรคให้กับฟาร์มสัตว์ได้
บางคนอาจทราบอยู่แล้ว เพราะสมาร์ทฟาร์มตามต่างประเทศได้นำกล้องถ่ายภาพความร้อนมาใช้กันสักพัก ตัวอย่างเช่นฟาร์มในประเทศจีนที่มีกล้องถ่ายภาพความร้อนติดไว้กับโรงเรือน ดูอาการหมูแบบ real-time
และถ้าใครได้เข้าร่วมงานทันโลกทันเหตุการณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม จะทราบว่ามีหัวข้อนี้ที่อาจารย์ทดลองประสิทธิภาพ ความสามารถในการนำมาใช้จริงกับฟาร์ม ก็จะเห็นว่าตัวกล้องมีความแม่นยำสูงพอที่จะคัดแยกสัตว์ป่วยได้ รู้ล่วงหน้าก่อนที่สัตว์จะแสดงอาการ ทำให้เราแยกไปรักษาหรือนำไปตรวจเพื่อวิเคราะห์โรคได้
กล้องถ่ายภาพความร้อน มีหลักการทำงานคือ กล้องจะจับคลื่นความร้อนที่แผ่ออกมาจากวัตถุ มีเซนเซอร์ประมวลผลออกมาแสดงเป็นภาพให้เราเห็นความแตกต่างของอุณหภูมิที่ผิว ทำให้เห็นเป็นสีสว่างในส่วนที่มีความร้อนสูงกว่า และสีเข้มในส่วนที่อุณหภูมิต่ำกว่า เช่น เราใช้กล้องส่องกับหมูในคอก และเห็นหมูตัวหนึ่งมีสีสว่างกว่าตัวอื่น ทำให้ทราบเบื้องต้นว่า หมูตัวนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าตัวอื่น และเรายังใช้ความสามารถของกล้องในการระบุได้อีกว่าหมูตัวนั้นมีอุณหภูมิเท่าไหร่
ทำให้เราสามารถคัดกรองหมูที่ป่วย มีไข้ ได้เร็ว นำไปแยกฝูงเพื่อรักษา หรือ ตรวจเลือดเพื่อแก้ไขก่อนที่โรคจะแพร่กระจาย
**เกร็ดความรู้: อุณหภูมิร่างกายของหมูปกติอยู่ที่ประมาณ 39 องศาเซลเซียส
และรู้ไหมว่ากล้องชนิดนี้ถูกใช้ตรวจคัดกรอง ผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีราคาถูกลง สามารถจับต้องได้ ประกอบกับปัญหาแรงงานขาดแคลนทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฟาร์มและเกษตรกรรม
ที่มา: The Pig Site, PigProgress, ทันโรคทันเหตุการณ์กับการเลี้ยงสุกร ปีที่ 18